BREAKING: Chiquita Liable!! Read More.

การต่อสู้จะไม่มีวันจบสิ้น หากผืนดินแห่งนี้ยังไม่ถูกเพิกถอนออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำอุตสาหกรรม

เป็นระยะเวลากว่า 5 ปีมาแล้ว ที่พี่น้องกะเหรี่ยง ‘บ้านกะเบอะดิน’ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ยังคงยืนหยัดปกป้องผืนดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรของชุมชน ที่เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีทั้งกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้หญิง แกนนำ และผู้เฒ่า พัฒนาสู่กลยุทธ์การต่อสู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการยื่นหนังสือ การเจรจา สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการต่อสู้จากชุมชนอื่น และฟ้องคดีต่อศาล ร่วมกับชุมชนทางผ่าน คนอมก๋อย และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันหยุดโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย แม้จะสามารถชะลอโครงการเหมืองแร่ถ่านหินไว้ได้จนถึงปัจจุบัน แต่ยังเรียกไม่ได้ว่านี่คือชัยชนะที่แท้จริงของชุมชน แต่ก็ไม่ใช่ความพ่ายแพ้เช่นกัน แล้วอะไรคือชัยชนะที่แท้จริงของชุมชน ชุมชนจะต้องต่อสู้อีกยาวนานเท่าไหร่ อีกกี่รุ่นถึงจะจบสิ้น

ต้นตอที่แท้จริงของการต่อสู้และผลกระทบ

ประการที่ 1: การรุกรานและแย่งชิงทรัพยากรผ่านกฎหมายคือต้นตอของผลกระทบและความขัดแย้ง

หากมองย้อนกลับไปที่ที่ต้นตอของปัญหาที่นำมาสู่การต่อสู้อันยืดยาวนี้ คือ การประกาศพื้นที่เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำอุตสาหกรรมในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติแร่ทั้งสองฉบับ อันนำมาสู่แผนแม่บทแร่ที่เกิดขึ้นตามกรอบของพระราชบัญญัติแร่ ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยอย่างแท้จริง และแผนแม่บทแร่เองก็ยังมีความขัดแย้งกับพระราชบัญญัติแร่อีกด้วย

และเมื่อมองกลับมาที่บริบทพื้นที่ชุมชน ‘บ้านกะเบอะดิน’ ซึ่งแม้จะถูกประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำอุตสาหกรรม แต่พื้นที่ชุมชนบ้านกะเบอะดิน มีทั้งร่องรอยการค้นพบซากไหและไปป์โบราณ เป็นพื้นที่ป่าจิตวิญญาณประกอบพิธีกรรม เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ซึ่งต้องห้ามทำเหมืองแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ การทำเหมืองแร่จะกระทบทั้งด้านสุขภาพ วิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจท้องถิ่นของชุมชน กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นต้นตอที่สำคัญของปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญ ดังนั้นรัฐจึงต้องประกาศเพิกถอนให้พื้นที่ชุมชนบ้านกะเบอะดินออกจากเขตแหล่งแร่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทันที

ประการที่ 2: การปลดระวางถ่านหินที่ไม่เกิดขึ้นจริงคือสาเหตุหนึ่งของจุดสิ้นสุดของโลกร้อนสู่จุดเริ่มต้นของโลกเดือด

ทั่วโลกกำลังพูดถึงความจำเป็นในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงเรื่องการปลดระวางถ่านหิน อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน แต่ที่ ‘บ้านกะเบอะดิน’ รัฐยังคงอนุญาตให้กลุ่มทุนเข้ามาสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินบนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากร แหล่งต้นน้ำ และพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งสวนทางกับกระแสโลกโดยสิ้นเชิง

เมื่อกลางปี 2566 เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตร์เรส ได้ประกาศว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) ได้สิ้นสุดลง และโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ นั่นก็คือ ‘ยุคโลกเดือด’ (Global Boiling) สถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความร้อนระอุกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ชุมชน ‘กะเบอะดิน’ ที่นอกจากจะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีพืชขึ้นชื่อที่ส่งออกไปหลากหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่อย่างมะเขือเทศ หรือที่ชาวกะเบอะดินเรียกว่า “ย่างชาย” พืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมามากกว่า 20 ปี ทั้งยังสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ส่งออกไปยังหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดปทุมธานี จังหวัดตาก และโรงงานปลากระป๋องในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ข้อเสนอแนะและจุดยืนของชุมชน

จุดยืนของชุมชน ‘กะเบอะดิน’ คือไม่ต้องการเหมืองแร่ ชุมชนต้องมีอำนาจตัดสินใจในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ในขณะเดียวกันรัฐและกลุ่มทุนเองก็ต้องหยุดการละเมิดสิทธิชุมชนผ่านกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่สูญเสีย เสียหายอันเกิดจากโครงการพัฒนาทั้งหลายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศทันที ซึ่งมีข้อเสนอแนะดังนี้

  • รัฐต้องเร่งดำเนินการการประกาศยกเลิกแผนแม่บทแร่ฉบับที่สองโดยทันที
  • รัฐต้องเร่งทบทวนการเลิกใช้พลังงานฟอสซิล และประกาศปลดระวางถ่านหิน 100% ตามเป้าหมาย (Coal Free) ภายในปี พ.ศ. 2578 ดังนั้นนับแต่นี้เป็นต้นไปประเทศไทยจะต้องไม่มีการทำเหมืองแร่ถ่านหินอีกต่อไป
  • รัฐต้องออกกฎหมายหรือนโยบายในการชดใช้หรือเรียกชดใช้จากผู้ก่อมลพิษให้เป็นผู้รับผิดชอบตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP)

ดังนั้นอนาคตและความเป็นอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยง ‘บ้านกะเบอะดิน’ ที่มีวิถีชีวิตอยู่ท่ามกลางหุบเขาอันสวยงาม ท่ามกลางทรัพยากรที่หลากหลาย จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคงหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับกฎหมาย นโยบาย และการยอมรับ การเคารพวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่แท้จริงว่า ทรัพยากรเหล่านั้นสำคัญต่อพวกเขาและอนาคตลูกหลานอย่างไร คุณค่าทางจิตวิญญาณ ความเชื่อ ประเพณีที่ฝังอยู่กับพื้นที่มากว่าร้อยปีที่ประเมินค่าไม่ได้จะถูกแทนที่ด้วยเหมืองแร่ ที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมหรือได้เสียเลยแม้แต่น้อย เม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่จึงเทียบไม่ได้กับคุณค่าของชุมชนที่ประเมินค่าไม่ได้

มุมมองจากผู้ทำงานติดตามชุมชนและขบวนอมก๋อย